การแข่งขันของธุรกิจ”หนังสือ” ในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องปรับตัวรับมือ “สื่อใหม่” ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้อ่านหนังสือเล่ม ทำให้บรรดา “สำนักพิมพ์”หลายค่าย ต่างเดินหน้าสร้างสรรค์กลยุทธ์ต่อยอดคอนเทนท์ รวมถึงผสมผสานการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ เพื่อสร้างฐานผู้อ่านทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์
กลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง จึงมีความสำคัญต่อการสื่อสารและการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เนื่องจากสินค้าหรือผลงานส่วนใหญ่มุ่งเน้นเจาะคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยถือเป็นกลุ่มที่ใช้เวลากับสื่อดิจิทัล ออนไลน์หลายชั่วโมงในแต่ละวัน มากกว่าสื่อรูปแบบอื่นๆ
รูปแบบการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในช่วงแรก บริษัทใช้เว็บไซต์สื่อสารจนติดตลาด เป็นที่รับรู้ในกลุ่มวัยรุ่นและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะที่การใช้งานสื่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างในกลุ่มหลายวัย ส่งผลให้การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้นในทุกธุรกิจ
ท่ามกลางสถานการณ์การเข้าร้านหนังสือและซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากยอดขายร้านหนังสือชะลออย่างมากเมื่อเทียบกับยุคก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้
“หากหนังสือมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย อาจไปไม่รอด เช่นเดียวกับหนังสือ ที่ไม่วางตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เชื่อว่าขายยากมากในปัจจุบัน แต่หากเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่ม ถือว่ามีโอกาสทางธุรกิจในยุคนี้ ที่สามารถใช้เครื่องมือสื่อดิจิทัลในการสื่อสารตอบโจทย์ความสนใจเฉพาะด้าน”
ในโลกออนไลน์ที่สามารถค้นหาข้อมูลและวิเคราะห์ความสนใจผู้บริโภคได้อย่าง ง่ายๆ ตัวอย่างเว็บไซต์กูเกิล ที่มีผู้เข้าไปค้นหาข้อมูลผ่านคำค้นต่างๆ ที่อยู่ในกระแส สำนักพิมพ์อาจเลือกดึงความสนใจของผู้คนจากคำค้นยอดฮิต มาผลิตเป็นหนังสือ ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกกว่าในอินเทอร์เน็ต จะเห็นได้ว่าสื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางสำคัญในการพัฒนาคอนเทนท์หนังสือให้ น่าสนใจ