นิทานสำหรับเด็กเพื่อฝึกฝนให้รักการอ่าน

การอ่านเป็นอาหารสมองที่ช่วยพัฒนาสมองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นอกจากนี้การอ่านยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอารมณ์จิตใจ ช่วยให้ผู้อ่านมีความสุขบันเทิงใจผ่อนคลายความเครียด และช่วยบำบัดอาการทางจิต ซึ่งส่งผลต่อการลดปัญหาทางสังคมอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยมาก จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริมการอ่านทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนอย่างกว้างขวาง ฉะนั้นการเริ่มต้นปลูกฝังรักหนังสือควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กเพราะวัยนี้เป็นวัยที่ซึมซับและปลูกฝังลักษณะนิสัยต่างๆได้ง่าย การสร้างความสนใจให้เด็กอยากอ่านหนังสือเป็นการวางพื้นฐานการรักอ่านและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็กต่อไป

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้ใช้ภาษาซึ่งถูกนำมาบันทึกด้วยตัวหนังสือ เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความหมายจากคนหนึ่งมาสู่คนอื่น ผ่านเรื่องเล่าตามจินตนาการ เป็นเรื่องราวที่มีตัวละครแสดงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดได้เช่นเดียวกับคน โดยการสื่อสารจากหนังสือสำหรับเด็กประเภทนิทาน ด้วยวาจาของผู้เล่าไปสู่ผู้ฟังอย่างมีศิลปะ เพื่อสร้างความสนุกสนาน และเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านความรู้และคุณธรรมให้แก่ผู้ฟัง การอ่านเป็นทักษะที่ต้องใช้กระบวนการที่ซับซ้อน เพราะการอ่านจะเกี่ยว ข้องกับการแปลความสัญลักษณ์ที่เห็น และใช้แทนภาษาพูด เพื่อให้คนอื่นเข้าใจความคิดของผู้เขียน ผู้อ่านจึงต้องการเวลาสำหรับการฝึกการอ่าน ซึ่งต้องได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

การเลือกนิทานสำหรับเด็ก

เป็นสื่อทางภาษาที่ถ่ายทอดเรื่องราวตามจินตนาการของผู้เขียน ผ่านภาษาและตัวหนังสือที่เรียบเรียงอย่างบรรจงงดงาม การอ่านหนังสือนิทาน เด็กจะมีโอกาสเลือกอ่านตามความสนใจของตนเอง ตรงตามวัตถุประสงค์ของตนเอง จึงแตกต่างจากการอ่านจากตำราหรือแบบฝึกหัด นอกจากนี้หนังสือนิทานไม่มุ่งเน้นการสอนซ่อมเสริมหรือฝึกฝนเด็ก เด็กจึงมีความสุขที่จะเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ที่จะอ่านด้วยทัศนคติที่ดี หนังสือนิทานสำหรับเด็กจะมีลักษณะเด่นเหมาะสมกับการสอนอ่าน เพราะมีภาพที่เชื่อมโยงเรื่องราวกับภาษาที่เป็นสัญ ลักษณ์ให้เด็กเข้าใจความหมายเรื่องราวงานเขียนนั้นๆ

นิทานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก

1.มีเนื้อหาสั้น ไม่วกวน ไม่ซับซ้อน เสนอเรื่องราวตรงไปตรงมา ชวนติดตาม น่าคิด สื่อถึงสังคมที่ดี
2.มีคำ ประโยคง่ายๆ ซ้ำๆ ก่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน
3.เป็นคำสุภาพ ไพเราะ ที่สังคมใช้สื่อสารอย่างเหมาะสม
4.มีภาพประกอบเรื่องราวสวยงาม
5.ภาพและเรื่องสอดคล้องกัน ชวนให้เด็กเข้าใจความหมายของภาษาได้เป็นอย่างดี
6.ตัวหนังสือพิมพ์หรือเขียนอ่านง่าย ไม่มีลวดลายประดิษฐ์ ขนาดตัวหนังสือเหมาะแก่สายตา