แนะนำเทคนิควิธีการในการอ่านหนังสืออย่างนักคิด

พอพูดถึงการอ่านแล้วหลายคนถึงกับมีอาการ(ง่วงนอน) เพราะนิสัยไม่ชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก บางคนชอบอ่านเป็นบางครั้ง บางเรื่อง บางเวลา และบางอารมณ์ แต่ในขณะที่บางคนเป็น “หนอนหนังสือ” เห็นตัวอักษรที่ไหน เมื่อไหร่ พลาดไม่ได้จะต้องขออ่านไว้ก่อน ถ้าวันไหนไม่ได้อ่านหนังสือมันเหมือนกับชีวิตขาดอะไรบางอย่างไป และพฤติกรรมการอ่านหนังสือของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคน บางคนชอบอ่านหนังสือบนรถเมล์ บางคนชอบอ่านหนังสือก่อนนอน บางคนชอบอ่านหนังสือไปด้วยดูทีวีหรือฟังเพลงไปด้วย บางคนขาดไม่ได้ที่จะต้องอ่านหนังสือเวลาเข้าห้องน้ำ บางคนชอบอ่านหนังสือเวลาเครียด แนะนำเทคนิควิธีการในการอ่านหนังสืออย่างนักคิด พูดง่ายๆคืออ่านหนังสืออย่างไรจึงจะทำไห้เราได้ทั้งความรู้และพัฒนาศักยภาพทางความคิดไปในตัวด้วยนั่นเอง

หนังสือคือเชื้อเพลิงทางความคิด

มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าคนทุกคนมีศักยภาพในการคิดที่ไม่แตกต่างกัน แต่พลังทางความคิดของใครจะสูงส่งกว่ากันนั้นอยู่ที่ว่าใครสามารถสร้างพลังงานทางความคิดได้ดีกว่ากันมากกว่า พลังงานทางความคิดมาจากไหน ก็มาจากการจุดเชื้อเพลิงทางความคิด ถ้าจะถามต่อไปอีกว่าเชื้อเพลิง ทางความคิดมาจากไหน ก็มาจากการฟัง พูด อ่าน เขียนนั่นเองครับ ในที่นี้ผมจะขอพูดถึงเชื้อเพลิง ที่มาจากการอ่านก่อนนะครับ ในขณะที่เรากำลังอ่านหนังสืออยู่นั้น สมองของเรากำลังถูกลนด้วยไฟทางความคิดของผู้เขียนทำให้ความคิดของเราอ่อนตัวลง (คล้อยตามความคิดผู้เขียน) ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะขึ้นรูปทางความคิดใหม่ โดยอาศัยพลังงานจากการอ่านไป เพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนความคิดเดิม หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางความคิดใหม่ๆขึ้นมา ดังนั้น ในขณะอ่านหนังสืออย่าเพียงอ่านเพื่อให้รู้ว่าเขาเขียนว่าอะไรเท่านั้น แต่จงหยุดอ่านเป็นช่วงๆ เพื่อให้สมองได้มีเวลาคิดบ้าง เช่น อ่านจบแต่ละบท แต่ละตอนให้หยุดคิดสัก 1-2 นาที แล้วค่อยอ่านต่อ

บันทึกความคิดระหว่างการอ่าน

ขอให้คิดเสมอว่าหนังสือหนึ่งเล่มที่เรากำลังอ่านนั้น เป็นการลงทุนทางความคิด ดังนั้น เราจงหากำไรจากการอ่านให้มากที่สุด โดยการจดบันทึกความคิดที่มันวิ่งไปวิ่งมาในสมองของเรา จะสังเกตได้ว่าในขณะที่อ่านหนังสือไม่ว่าหนังสือประเภทไหน แม้กระทั่งการอ่านหนังสือพิมพ์ ในสมอง ของเราจะมีความคิดบางอย่างเกิดขึ้น บางครั้งเป็นความคิดที่เกิดขึ้นชัดเจน บางครั้งเป็นความคิดที่แว๊บขึ้นมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราสามารถจับเอาความคิดที่แว๊บไปแว๊บมานั้นได้มากน้อยเพียงใด ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจกับจุดนี้เท่าใดนัก จึงทำให้การอ่านเป็นเพียงการอ่านเพื่อรู้ แต่ยังขาดประเด็นเรื่องการอ่านเพื่อคิด ผมอยากแนะนำให้พกปากกาหรือดินสอติดตัวเสมอในระหว่างการอ่านหนังสือ เมื่อเราจับความคิดอะไรได้ ขอให้บันทึกไว้หน้าแรกหรือหน้าสุดท้ายของหนังสือ เมื่อเราอ่านจบเล่มแล้ว สิ่งที่เราบันทึกนั่นแหละคือกำไรแห่งชีวิตในการอ่านหนังสือ และผมคิดว่าความคิดที่เราคิดได้ในระหว่างการอ่านนั้นอาจจะมีค่ามากกว่าราคาของ หนังสือแต่ละเล่มก็ได้

อย่าอ่านเอาเรื่อง แต่จงอ่านเอาความคิด

การอ่านโดยทั่วไปคือการอ่านเอาเรื่อง เพื่อจะรู้ว่าเรื่องนั้นๆเป็นอย่างไร แต่การอ่านแบบนักคิด จะต้องอ่านตัวหนังสือเพื่อสื่อไปถึงเจตนารมย์ของผู้เขียนว่า จริงๆแล้วผู้เขียนต้องการสื่อความคิด อะไรออกมา หรือถ้าสามารถสาวไปถึงความคิดของผู้เขียนได้ก็จะยิ่งดีมากครับ ผมอยากจะบอกว่าตัวหนังสือที่เราอ่านนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดของผู้เขียนที่ถูกกรั่นกรองออกมาแล้ว เท่านั้น แต่กว่าที่เขาจะเขียนออกมาได้นั้น เขาต้องมีความคิดมากกว่าที่เขียนอย่างแน่นอน ผมคิดว่า ถ้าเราอ่านแค่เพียงตัวหนังสือหรืออ่านเอาเรื่องนั้น เรา(ในฐานะผู้อ่าน) คงจะมีความรู้และความคิดน้อยกว่าผู้เขียนอย่างแน่นอน ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเป็นผู้อ่านที่เป็นนักคิดด้วยนั้น เราจะต้องเข้าถึงแนวคิดที่แท้จริงของผู้เขียนและต้องต่อยอดแนวคิดของผู้เขียนให้ได้

นำดอกผลทางความคิดไปใช้งาน

เมื่อเราบันทึกความคิดจากการอ่านหนังสือแต่ละเล่มไว้แล้ว อย่าลืมนำเอาความคิดที่ได้ระหว่างการ อ่านไปใช้งาน เพราะมิฉะนั้น ความคิดเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร วิธีการนำเอาไปใช้ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนำไปใช้เป็นแนวทางในการเขียนหนังสือ บทความ การนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงงาน การนำไปใช้ในการถ่ายทอดสู่ผู้อื่น การนำไปใช้ในการพัฒนาตัวเอง พัฒนา ลูกน้อง หรือบางคนอาจจะไปใช้ในการสร้างอาชีพใหม่ ซึ่งเทคนิคการนำเอาความคิดไปใช้อาจจะ นำไปใช้ตรงๆ หรือนำเอาความคิดนั้นไปผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์แบบต่างๆ เช่น การคิด ข้ามกล่อง (Lateral Thinking) โดยการผสมผสานแนวคิดที่ได้จากการอ่านเข้ากับแนวคิดในเรื่องใด เรื่องหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความคิดใหม่ที่ดีกว่าเดิม

สรุป การอ่านหนังสือแบบนักคิดนั้นแตกต่างจากการอ่านหนังสือแบบผู้อ่านทั่วๆไปตรงที่เราใช้หนังสือเป็นบันไดในการก้าวไปสู่ความคิดของผู้เขียน ในขณะเดียวกันเราก็ใช้หนังสือเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟเพื่อส่องสว่างทางความคิดให้กับเราเดินไปสู่ความคิดใหม่ที่เป็นของตัวเราเอง เราต้องคิดเสมอว่า ถ้าเราอ่านเพียงเพื่อรู้ เราจะเป็นได้เพียงผู้ตามเท่านั้น แต่ถ้าเราอ่านเพื่อคิด เราสามารถก้าวเป็นผู้นำ(ทางความคิด)ได้อย่างแน่นอน