การอ่านนั้นสามารถส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาของระบบสมอง

33

การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สามารถช่วยให้สังคมไทย พัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอ่านนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ในทุกๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการคิด หรือกระทำสิ่งใดนั้น ย่อมต้องอาศัยการอ่านเป็นสำคัญวัยรุ่นไทยนับได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความสามารถในการอ่านเป็นอย่างดี เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีสื่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่มีประโยชน์ และเพื่อความบันเทิง วัยรุ่นไทยสามารถที่จะเลือกอ่านในสิ่งที่ตนเองชอบ และสนใจได้อย่างกว้างขวาง สื่อที่วัยรุ่นไทยเลือกอ่านนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นสื่อ ประเภทบันเทิง ฉาบฉวย และหวือหวา ซึ่งสื่อเหล่านี้ นับว่าเป็นสื่อที่เข้ามามีบทบาทต่อการอ่าน ของวัยรุ่นไทยเป็นอย่างมาก การอ่านนั้นมีความจำเป็นต่อคนทุกระดับ เพราะไม่ว่าใครก็จำเป็นที่จะต้องอ่านกันทั้งนั้น เช่นการอ่านแผ่นป้ายโฆษณา การอ่านข้อความ การอ่านหนังสือพิมพ์ การอ่านคำกล่าวรายงาน หรือแม้กระทั่งการอ่านเรื่องใกล้ตัวอย่างชื่อของตนเอง เป็นต้น

การอ่านนั้นสามารถส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาของระบบสมอง เพราะเมื่อคนเราอ่านมากเท่าไร สมองก็จะสามารถจดจำและพัฒนาได้มากขึ้นเท่านั้น การอ่านเพื่อพัฒนาการที่ดีนั้น ควรเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ การได้พบ ได้ฟัง ได้พูด หรือได้อ่านนั้นเปรียบเสมือนการได้ฝึกฝนทักษะการอ่านเบื้องต้นเป็นอย่างดี การอ่านโดยทั่วไปมีจุดประสงค์สำคัญคือ เป็นการอ่านเพื่อเก็บความรู้ เป็นการอ่านเพื่อจดจำเอาสาระสำคัญต่างๆมารวบรวมกันไว้เป็นความรู้รอบตัว เพื่อจะสามารถนำไปใช้ได้ในโอกาสต่างๆ การอ่านเพื่อวิเคราะห์ คือ การอ่านโดยพิจารณาส่วนต่างๆ ของบทเพื่อให้เกิด ความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนต้องอ่าน ซ้ำหลายๆครั้ง เหล่านี้มักใช้ในการอ่านหนังสือเชิงวิชาการ  การอ่านเพื่อตีความ เมื่ออ่านรู้เรื่องแล้วก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความ การตีความนั้นมักเป็นไปตามประสบการณ์ และ ความรู้สึกของผู้อ่านแต่ละคน เมื่ออ่านได้ตามจุดประสงค์สำคัญดังกล่าวแล้ว ก็ยังจะต้องมีการประเมินค่าในสิ่งที่อ่านด้วย การประเมินค่า คือ การชี้แจงบอกกล่าวว่าสิ่งไหนมีความดีด้านใด บกพร่องในด้านใด สำหรับการประเมินค่าต้องพิจารณารูปแบบสื่อที่อ่านนั้นให้ดีเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาว่า จุดประสงค์ในการสร้างสรรค์ของสื่อนั้นคืออะไร เมื่อจะประเมินค่าสิ่งที่ได้อ่าน ต้องพิจารณารูปแบบ และจุดประสงค์ในการผลิต การประเมินค่าของเราไม่คำนึงว่าจะถูกต้องหรือไม่ ตรงกับความคิดเห็นของใครและควรพิจารณาส่วนต่างๆ ของสื่อที่อ่านอย่างละเอียดถี่ถ้วน

กิจกรรมส่งเสริมการอ่านและจัดมุมหนังสือสำหรับเด็ก 0-6 ปี

4คนในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญกับหนังสือ เนื่องจากมีสื่อและสิ่งเร้าต่างๆที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากขึ้นพบว่าเด็กไทยอ่านหนังสือลดลงเกือบทุกวัน เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ความเป็นอยู่ การศึกษาและค่านิยมต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมรวมทั้งสภาพแวดล้อมในปัจจุบันอีกด้วย ในขณะเดียวกันการเรียนรู้สิ่งต่างๆในสังคมนั้นไม่ได้มาจากการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่หากจะมีสื่อชนิดอื่นที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมาในสังคมอีกมากมาย เช่น อินเตอร์เน็ต อีเมล์ มือถือคอมพิวเตอร์แบบพกพา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ และความสามารถสืบค้นหาความรู้จากสื่อนั้นได้ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านวิชาการ บันเทิง หรือประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกคนมีช่องทางในการค้นหาความรู้มากขึ้นเป็นผลให้เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลงและหันมาศึกษาหาความรู้จากด้านอื่นมากขึ้น

เด็กไทยเริ่มมีความสนใจในการอ่านหนังสือน้อยลง เมื่อเปรีบเทียบกับอดีต อาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีการสื่อสารอย่างไร้พรมแดน แต่ละประเทศก็มีการพัฒนาให้ประเทศของตัวเองมีประสิทธิภาพทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสิ่วแวดล้อม เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข่าวสารก็สะดวกกว่าอดีตอย่างมาก แต่ละประเทศมีการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาเพื่อยกระดับด้านการศึกษาของประเทศตัวเอง เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ ที่จะสามารถมาพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ซึ่งในการพัฒนาด้านการศึกษาของแต่ละประเทศก็มีลักษณะกฏเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ประชากรในประเทศว่ามีความใส่ใจสนใจแค่ไหน

การผลักดันนโยบายหนังสือและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นการแก้ไขปัญหาการเรียนหนังสือด้อยประสิทธิภาพและการอ่านหนังสือไม่ออกของเด็กไทยในระยะยาว เนื่องจากการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กวัย 0-6 ปี มีข้อมูลยืนยันแล้วว่าจะช่วยทำให้เด็กอ่านหนังสือได้โดยอัตโนมัติก่อนเข้าโรงเรียน เพราะสมองของเด็กในวันนี้เติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ และทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านติดตัวไปจนโต ช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการ มีโลกทัศน์อันกว้างใหญ่ เกิดทักษะด้านภาษา และมีอุปนิสัยที่พึงประสงค์ของสังคม

เทคโนโลยีกับวิถีการอ่านของวัยรุ่น

จับกระเเสการอ่านหนังสือของวัยรุ่นไทยท่ามกลางยุคสมัย ” เทคโนโลยีนิยม ” ของท่านผู้นำประเทศคนปัจจุบัน ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่นยุคนี้ เริ่มเข้าสู่มุมมืดมากขึ้นทุกที จากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าประชาชนคนไทยเฉลี่ยเเล้วอ่านหนังสือกันค่อนข้างน้อย คือ ๖ บรรทัดต่อปี แต่กลับดูทีวีมากถึง ๓ ชั่วโมง๕๐ นาทีต่อวัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยุคกระเเสบริโภคนิยม ผนวกกับยุคเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเสพข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคข่าวสารให้กับประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่หลงใหลในเทคโนโลยีจนกลายเป็นกระเเสเเฟชั่น “ ซึ่งนับว่าเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่ง” ของคนที่จะขึ้นไปสู่พลพรรคปัญญาชนในสังคม

ภายใต้กฎเกณฑ์กระเเสสังคมอิเล็กทรอนิกส์ หากจะมองอีกเเง่มุมหนึ่ง มันก็คงไม่ผิดมากนักเพราะประดิษฐกรรมเหล่านี้ล้วนเเล้วแต่ถูกคิดเเละสร้างสรรค์มาจากหัวสมองของมนุษย์ที่มุ่งหวังจะพัฒนาวัตถุอันเกิดจากจินตนาการที่บรรเจิดเพริศเเพร้วขึ้นมาเพียงเพื่อสนองความต้องการของตน

หากลองเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาเเล้ว หรือกำลังพัฒนาบางประเทศจะเห็นได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ ให้ความสนใจในการอ่านหนังสือกันมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพทางด้านต่าง ๆ แล้วยังถือเป็นบรรทัดฐานของการเรียนรู้เเละเป็นฐานในการพัฒนา โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวก็ยังนิยมท่องโลกด้วยตัวอักษรของหนังสือมากกว่าการท่องโลกด้วยอักษรของหน้าจอคอมพิวเตอร์ เเต่สิ่งที่ปรากฎกับวัยรุ่นไทยอยู่ในขณะนี้กลับสวนทางกับกระแสโลก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องกลับมาขบคิด

หลายครั้งที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองในสิ่งที่ได้พบเห็นกับวิถีการอ่าน…ของวัยรุ่นในยุคนี้ว่า ทำไมเหล่าวัยโจ๋วัยจ๊าบถึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของการอ่านหนังสือทั้ง ๆ ที่หนังสือจะเป็นตัวเพิ่มพูนสติปัญญาให้พวกเขาได้ฉลาดรอบรู้ เสริมสร้างแนวความคิดให้เเตกฉานในการดำเนินชีวิต เเละเเยบยลในการเเก้ปัญหาต่าง ๆ ของเเต่ละช่วงจังหวะชีวิต เเล้ววัยรุ่นยุคนี้ เขาเสพหรือเเสวงหาความรู้มาเป็นอาหารสมองกันอย่างไร ?

การอ่านหนังสือเตรียมสอบอย่างง่ายๆและได้ผลอีกด้วย

การทำความเข้าใจและจดจำบทเรียนนั้นเป็นเทคนิคง่ายๆ นักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกคน ขอแต่เพียงเข้าใจเคล็ดลับวิธีการเท่านั้นเอง หัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจและจดจำบทเรียน คือการหมั่นฝึกฝนตามขั้นตอนให้เกิดความเคยชินจนติดกลายเป็นนิสัยการอ่านเพื่อทำความเข้าใจนี้จะแตกต่างจากการอ่านเพียงเพื่อท่องจำ เนื่องจากหลายคนอาจจะเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านหนังสือว่าอ่านยังไงก็จำไม่ได้ หรือจำได้นิดเดียวก็ลืมแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจจะมาจากการที่เรายังไม่มีหลักในการอ่านหนังสือที่ดี หรือยังขาดสมาธิในการอ่านหนังสือก็เป็นได้

เวลาอ่านแล้วต้องจับจุดสำคัญของเรื่องที่เราอ่านให้ได้ อาจใช้วิธีการทำไฮท์ไลท์โดยขีดเส้นใต้ที่เนื้อหานั้นๆหรือใช้ปากกาสีที่แตกต่างจากสีตัวหนังสือที่อ่านอยู่ระบายทับข้อความที่เราเห็นว่าสำคัญจริงๆจุดที่สำคัญของเนื้อเรื่องนั้นๆ สังเกตได้ว่ามักจะเกี่ยวข้องกับชื่อหัวเรื่อง มีการกล่าวซ้ำข้อความดังกล่าวบ่อยครั้งในเนื้อหาวิชา หรืออาจจะมีการพิมพ์ตัวหนังสือที่แตกต่างไปจากตัวหนังสืออื่น เช่นพิมพ์เป็นตัวหนา ตัวเอียง ฯลฯ การย่อหรือเขียนข้อความที่สำคัญเพื่อเป็นการป้องกันอาการง่วงนอนได้อีกทางหนึ่ง เราควรมีการเขียนโน๊ตย่อเฉพาะข้อความที่สำคัญ สรุปลงในสมุดต่างหาก เน้นเฉพาะที่สำคัญจริงๆ

เทคนิคการอ่านหนังสือเตรียมสอบ

1. อ่านเป็นกลุ่มดีกว่า เพราะการอ่านคนเดียวอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ถ้าอ่านเป็นกลุ่มโอกาสอ่านผิดจุดจะยากขึ้น และยังพอช่วยกันฉุดได้
2. อ่านมาก่อนจากบ้าน แต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเองมาก่อน ควรอ่านเองที่บ้านก่อน 1 รอบ และจับกลุ่มติว เสร็จแล้วกลับไปอ่านทบทวนเองที่บ้านอีก 1 รอบ
3. ผลัดกันติว ใครเข้าใจเรื่องใดมากที่สุดก็ให้เป็นผู้ติว ข้อสำคัญ อย่าคิดแต่จะเป็นผู้รับอย่างเดียว จงคิดว่าเป็นผู้ให้ก่อน แล้วคนอื่นก็จะให้ตอบเอง
4. เป็นการทบทวนเนื้อหา ผู้ติวจะได้ทบทวนเนื้อหา และจะรู้ว่าตัวเองขาดอะไร บกพร่องอะไร จากคำถามของเพื่อนที่สงสัย
5. แชร์ความคิด การติวจะทำให้เกิดการแชร์ความคิด และฝึกวิธีทำงานร่วมกับผู้อื่น

เทคโนโลยี Tablet กับการอ่านหนังสือ


เหตุผลที่ Tablet PC กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ นั่นเพราะประโยชน์อันหลากหลาย และรูปแบบที่ทันสมัย พกพาได้สะดวกสบาย จะใช้ต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้ ถ่ายรูปก็ดี เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ เช็คข้อมูลข่าวสาร อ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์หรือ E-Book ก็ยังได้ แต่ประโยชน์สุดๆ ของเจ้า Tablet PC นี้คือการใช้อ่านหนังสืออิเลคทรอนิคส์ หรือ E-Book สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าE-Book  คือ เจ้า E-Book นี่ก็หน้าตาเหมือนกันกับหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มๆ บนกระดาษนี่ล่ะ  แต่จะต้องอ่านผ่านหน้าหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอของ Tablet PC   ซึ่งมีขนาดหน้าจอใหญ่พอๆ กับหนังสือจริงๆ เลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถอ่านได้ในที่มืดได้อีกด้วยโดยใช้แสงสว่างจากจอเข้ามาเป็นตัวช่วย

ปัจจุบันนี้เริ่ม มีการใช้ Tablet PC ในแวดวงการศึกษากันอย่างคึกคักเลยทีเดียว ตัวอย่งเช่นในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นลงทุนซื้อ Table PC แจกให้กับนักเรียนเพื่อใช้แทนหนังสือในรูปแบบเดิมๆ  ทั้งนี้เพราะTablet PC จะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือและตำราเรียนได้อย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้การปรับปรุงเนื้อหาตำราเรียนสามารถทำได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอหนังสือเป็นเล่มๆ หมดแล้วค่อยพิมพ์ใหม่แบบเดิมๆ อีกต่อไป  เพราะหนังสือต่างๆ ที่อยู่บน Tablet PC นั้นล้วนแล้วแต่เป็นหนังสืออิเลคทรอนิคส์ที่ถูกเก็บไว้ในรูปดิจิตอล จึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

Tablet PC หนึ่งเครื่องนั้นสามารถบรรจุหนังสือได้เป็นพันๆ เล่ม โดยผู้อ่านสามารถเลือกเล่มไหนขึ้นมาอ่านก่อนก็ได้ ความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งของTablet PC คือการเชื่อมโยงครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา เข้าด้วยกันผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการเรียนการสอนหมดไป ครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา สามารถอยู่กันคนละที่แต่เข้ามาเรียนพร้อมกันแบบเห็นหน้าเห็นตาผ่านทางกล้องที่ถูกติดตั้งมาบนTablet PC ได้  จึงทำให้การเรียนการสอนทางไกลเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย และเข้าไปถึงกลุ่มคนทุกชั้นไม่ว่าจะอยู่ในชนบทห่างไกลแค่ไหนก็ตาม

สำหรับในประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยบางแห่งเริ่มมีการแจก Tablet PC ให้กับนักศึกษาใหม่แล้ว แต่การนำไปประยุกต์ใช้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนแน่นอนเพราะยังต้องอาศัยการพัฒนาโปรแกรมมารองรับรวมทั้งเนื้อหาตำราในรูปแบบ E-Book ที่จะต้องมีจำนวนมากกว่านี้  ในขั้นนี้ Tablet PC ในไทยจึงอาจเป็นได้แค่เครื่องมือที่ไว้จูงใจนักศึกษาหรือสร้างภาพลักษณ์ทันสมัยให้กับมหาวิทยาลัยก่อน แต่ในอนาคต เมื่อราคาจำหน่ายของ Tablet PC ถูกลงกว่านี้จะมีจำนวนของหนังสือตำราเรียนต่างๆ ทยอยเข้าสู่E-Book มากขึ้น รวมทั้งจะมีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อรองรับการอ่าน E-Book แบบไทย ๆ มากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นTablet PC จะกลายเป็นช่องทางใหม่ ที่เปลี่ยนรูปโฉมการเรียนการสอนและการกระจายความรู้ให้เข้าถึงคนไทยได้อย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว

วิวัฒนาการของหนังสือเกิดขึ้นการจากที่มนุษย์ได้เรียนรู้ สิ่งต่างๆสั่งสมเป็นความรู้

1

ก่อนที่เราจะมีหนังสือเป็นแหล่งความรู้หลักอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์มีวิวัฒนาการที่ยาวนานข้ามยุคข้ามสมัยมานานนับพันปี  หนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ถือว่าเป็นความบันเทิงอย่างแรกๆของมนุษย์เรา แต่ในปัจจุบันเรามีสื่อที่หลากหลาขึ้น ทั้งในรูปของเสียง เช่น วิทยุ  เพลง หรือภาพและเสียงอย่าง โทรทัศน์ DVD หรือสื่ออินเตอร์เนตที่มีเครือข่ายโยงใยไปทั่วโลก วิวัฒนาการของหนังสือเกิดขึ้นการจากที่มนุษย์ได้เรียนรู้ สิ่งต่างๆสั่งสมเป็นความรู้และประสบการณ์จนกระทั่งลงมือละเลงวาดสิ่งที่พบเห็นมาและวิถีชีวิตไว้บนผนังถ้ำอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถ้ำจึงเป็นทั้งที่อยู่ค่อยคุ้มแดดคุ้มฝนและภัยจากสัตว์ร้ายที่ยังมีอยู่ชุกชุมในอดีต ทั้งยังกลายเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่คอยบันทึกเรื่องราวผ่านยุคสมัยให้สืบทอดมายังปัจจุบัน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เราพบ ศิลปะภาพพิมพ์บนผนังถ้ำในประเทศฝรั่งเศส และสเปน ทั้งยังมีการค้นพบรูปสลักผนังถ้ำที่มีอายุเก่าแก่ต่างๆมากมายในถ้ำต่างๆ การแกะสลักภาพวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นถือว่าเป็นหลักฐานอย่างแรกในการ แกะแบบพิมพ์ของมนุษย์

เมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ราวก่อนคริสตกาลประมาณ 5,000 ปี มนุษย์ในแถบอารายธรรมเมโสโปเตเมียเริ่มรู้จักการใช้ ของแข็งกดลงบนดินเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายและตัวอักษร จนกระทั่งถึงอารยะธรรมกรีกโบราณที่แสนรุ่งโรจน์ใช้วิธีเขียนหนังสือบนแผ่นไม้ ที่ทำจากต้นบีช (Beech) หรือที่เรียกกันในภาษาแองโกล-แซกซอนเรียกว่า BOC จนเป็นที่มาของคำว่าBookในปัจจุบัน ในขณะที่อีกฟากของอารยะธรรมอย่างในดินแดนตะวันออก ผู้นำอารยะธรรมอย่างจีน ก็เริ่มมีการบันทึกตัวอักษรลงบนแผ่นไม้ และใบลานตั้งแต่ก่อนคริสตกาลประมาณ 1,300 ปี หลังจากนั้นมนุษย์มีวิวัฒนาการที่นำหนังสัตว์มาใช้แทนกระดาษ โดยผ่านการฟอกและขัดจนเรียบใช้ทำเป็นม้วนบันทึกเรื่องราวต่างๆลงบนแผ่นหนังจนกระทั่ง ในพ.ศ.648 ( ค.ศ. 105) ชาวจีนชื่อ ไซลัน (Silan) ได้คิดค้นวิธีทำกระดาษจนกระดาษได้กลายเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราวต่างๆอย่างเช่นในปัจจุบัน  ในบรรพกาลปราชญ์ชาวจีนคิดค้นสิ่งต่างๆที่มีประโยชน์ได้ ก่อนชาวยุโรปมามกมายหลายสิ่งแต่ขาดการพัฒนาการที่ต่อเนื่องทำให้ล้าหลังและองค์ความรู้ไม่ได้ต่อยอดเท่าทีควร  เช่น การที่จีนรู้จักคิดค้นดินประสิวก่อนชาติใดในโลก การสร้างเรือสำเภา กระดาษอันเป็นวัสดุจำเป็นที่ใช้ในการบันทึกสิ่งต่างๆก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ปราชญ์ชาวที่จีนได้คิดค้นขึ้น แต่ขาดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม

นิทานสำหรับเด็กเพื่อฝึกฝนให้รักการอ่าน

การอ่านเป็นอาหารสมองที่ช่วยพัฒนาสมองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นอกจากนี้การอ่านยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาอารมณ์จิตใจ ช่วยให้ผู้อ่านมีความสุขบันเทิงใจผ่อนคลายความเครียด และช่วยบำบัดอาการทางจิต ซึ่งส่งผลต่อการลดปัญหาทางสังคมอีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยมาก จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริมการอ่านทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนอย่างกว้างขวาง ฉะนั้นการเริ่มต้นปลูกฝังรักหนังสือควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กเพราะวัยนี้เป็นวัยที่ซึมซับและปลูกฝังลักษณะนิสัยต่างๆได้ง่าย การสร้างความสนใจให้เด็กอยากอ่านหนังสือเป็นการวางพื้นฐานการรักอ่านและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็กต่อไป

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้ใช้ภาษาซึ่งถูกนำมาบันทึกด้วยตัวหนังสือ เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความหมายจากคนหนึ่งมาสู่คนอื่น ผ่านเรื่องเล่าตามจินตนาการ เป็นเรื่องราวที่มีตัวละครแสดงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดได้เช่นเดียวกับคน โดยการสื่อสารจากหนังสือสำหรับเด็กประเภทนิทาน ด้วยวาจาของผู้เล่าไปสู่ผู้ฟังอย่างมีศิลปะ เพื่อสร้างความสนุกสนาน และเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านความรู้และคุณธรรมให้แก่ผู้ฟัง การอ่านเป็นทักษะที่ต้องใช้กระบวนการที่ซับซ้อน เพราะการอ่านจะเกี่ยว ข้องกับการแปลความสัญลักษณ์ที่เห็น และใช้แทนภาษาพูด เพื่อให้คนอื่นเข้าใจความคิดของผู้เขียน ผู้อ่านจึงต้องการเวลาสำหรับการฝึกการอ่าน ซึ่งต้องได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

การเลือกนิทานสำหรับเด็ก

เป็นสื่อทางภาษาที่ถ่ายทอดเรื่องราวตามจินตนาการของผู้เขียน ผ่านภาษาและตัวหนังสือที่เรียบเรียงอย่างบรรจงงดงาม การอ่านหนังสือนิทาน เด็กจะมีโอกาสเลือกอ่านตามความสนใจของตนเอง ตรงตามวัตถุประสงค์ของตนเอง จึงแตกต่างจากการอ่านจากตำราหรือแบบฝึกหัด นอกจากนี้หนังสือนิทานไม่มุ่งเน้นการสอนซ่อมเสริมหรือฝึกฝนเด็ก เด็กจึงมีความสุขที่จะเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ที่จะอ่านด้วยทัศนคติที่ดี หนังสือนิทานสำหรับเด็กจะมีลักษณะเด่นเหมาะสมกับการสอนอ่าน เพราะมีภาพที่เชื่อมโยงเรื่องราวกับภาษาที่เป็นสัญ ลักษณ์ให้เด็กเข้าใจความหมายเรื่องราวงานเขียนนั้นๆ

นิทานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก

1.มีเนื้อหาสั้น ไม่วกวน ไม่ซับซ้อน เสนอเรื่องราวตรงไปตรงมา ชวนติดตาม น่าคิด สื่อถึงสังคมที่ดี
2.มีคำ ประโยคง่ายๆ ซ้ำๆ ก่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน
3.เป็นคำสุภาพ ไพเราะ ที่สังคมใช้สื่อสารอย่างเหมาะสม
4.มีภาพประกอบเรื่องราวสวยงาม
5.ภาพและเรื่องสอดคล้องกัน ชวนให้เด็กเข้าใจความหมายของภาษาได้เป็นอย่างดี
6.ตัวหนังสือพิมพ์หรือเขียนอ่านง่าย ไม่มีลวดลายประดิษฐ์ ขนาดตัวหนังสือเหมาะแก่สายตา

ปลูกฝังให้เป็นคนรักการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก

การอ่านมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 

มีส่วนในการพัฒนาการศึกษา ปัจจุบันหลายฝ่ายให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้นเพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมในการอ่านให้ยั่งยืน นำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองนี้ เพราะการจะผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติให้สำเร็จต้องมีกลุ่มทำงานยุทธศาสตร์มาผลักดันเรื่องนี้ และมีเรื่องหลักที่ต้องทำ คือ การตัดวงจรชั่วร้ายเนื่องจากหนังสือดีในปัจจุบันขายได้แค่ไม่กี่พันเล่ม ทำให้คนเขียน คนแปลหนังสือดีมีน้อย ตรงจุดนี้จะต้องอาศัยรัฐบาลมาช่วยตัดวงจรด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตหนังสือดีให้มากขึ้นโดยต้องมีกองทุนขึ้นมาสนับสนุนการผลิต การส่งเสริมให้เกิดชมรมรักการอ่านทุกหมู่บ้าน

การส่งเสริมให้เด้กรักการอ่านตั้งแต่เด็กจะช่วยให้รักการอ่านไปจนโตได้โดยหาหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟังโดยน้ำเสียงที่คุณแม่เล่าและเรื่องราวจากหนังสือนิทานนั้นๆ จะช่วยให้ลูกได้ฝึกทักษะการจำ โดยจำสิ่งต่างๆในหนังสือ และเกิดความสนใจในเสียงต่างๆรอบตัวว่าเป็นเหมือนนิทานที่คุณอ่านให้ฟังหรือไม่ นอกจากนี้การได้ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่เวลาฟังนิทานจะทำให้เด็กให้ความใส่ใจในหนังสือที่คุณอ่านและต่อมา พวกเขาจะเริ่มให้ความสนใจในหนังสือด้วยตัวเขาเอง และจะขอให้คุณอ่านให้ฟัง คุณแม่อาจช่วยลูกอ่านออกเสียงตัวอักษรและคำต่างๆ เพื่อให้เขาฝึกออกเสียงด้วย ลูกจะเรียนรู้การอ่านตามธรรมชาติของเขาจากสิ่งที่คุณแม่หรือคุณพ่อเล่าหรืออ่านให้ฟัง

การอ่านหนังสือนอกจากเป็นอาหารสมองที่ดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจให้แก่ผู้อ่านด้วย ยิ่งผู้อ่านได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากเรื่องที่อ่านมากเท่าไร การเรียนรู้ก็ยิ่งพัฒนาขึ้นเท่านั้น การอ่านกับเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณครูควรปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยอนุบาล เพราะเด็กในวัยนี้จะซึบซับและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวได้ง่ายและรวดเร็ว ยิ่งถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากคุณครูเป็นประจำและสม่ำเสมอด้วยแล้ว เด็กก็จะเกิดความคุ้นเคยและเคยชินกับการอ่านหนังสือ จนพัฒนาเป็นนิสัยรักการอ่านโดยไม่รู้ตัว

การอ่านเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมสามารถทำร่วมกันได้

แต่คนที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ เพราะการส่งเสริมการอ่านควรเริ่มแต่วัยเยาว์และต้องเริ่มต้นจากครอบครัวเป็นลำดับแรก พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก หากพ่อแม่ไม่สนใจอ่านหนังสือแล้ว  คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกเชื่อว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ควรทำ และสถานศึกษาก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเด็กให้เป็นคนรักการอ่าน ผ่านการจัดกิจกกรมส่งเสริมการอ่าน การจัดห้องสมุดให้น่าเข้า รวมถึงการบูรณาการความรู้จากหนังสือต่างๆ ที่เด็กชอบเข้ากับวิชาเรียนแต่ละวิชาให้ได้ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานกับการอ่านหนังสือ และเริ่มมองเป็นมุมมองที่หลากหลายจากหนังสือเล่มเดิมได้มากขึ้น

เพิ่มความสะดวกในการอ่าน กับร้านหนังสือออนไลน์

การเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ทำให้ผู้คนรู้จักและใช้งานอี-บุ๊กหรือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หากมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนที่จอใหญ่พอจะอ่านหนังสือได้ อย่ารอช้า หาวิธีประหยัดให้ตัวเอง ด้วยการซื้อหนังสืออี-บุ๊ก เพราะถูกกว่าซื้อเป็นฉบับประมาณ 25-30% เชียวล่ะ

แน่นอนว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนย่อมต้องใช้อินเทอร์เน็ตหรือใช้งานดาต้าเป็นประจำ จึงเป็นที่มาแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์สำหรับผู้ใช้ไอโฟนและไอแพด

เราต้องเริ่มด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการอี-บุ๊กมาไว้บนอุปกรณ์ของเราก่อน เช่น มีไอแพด หรือไอโฟน ก็เข้าไปที่แอพสโตร์ แล้วเลือกดาวน์โหลดของผู้ให้บริการที่เราต้องการใช้งานมาบนเครื่องของเรา ซึ่งจะมีทั้งของหนังสือฉบับนั้น ๆ เองและของสำนักพิมพ์ที่จัดทำเป็นร้านหนังสือออนไลน์ให้บริการทั้งจากนักเขียนชื่อดังและนักเขียนหน้าใหม่

ปัจจุบันที่เป็นรายใหญ่บนแอพสโตร์เปรียบเหมือนเปิดร้านขายหนังสือขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์มีทั้งแมกกาซีน พ็อกเกตบุ๊กและหนังสือพิมพ์ฉบับออนไลน์

จากข้อมูลล่าสุดมีการซื้อขายหนังสือหรือดาวน์โหลดอี-บุ๊กจากเอไอเอสบุ๊กสโตร์แล้วมากกว่า 2 ล้านเล่ม นิตยสารบางฉบับซื้อถูกกว่าซื้อเป็นเล่มได้สูงสุดถึง 60% ถ้าเป็นนิตยสารรายปักษ์ถ้าเราตกลงใจจะซื้อแล้ว จะได้รับหนังสือแบบอี-บุ๊กเดือนละ 2 เล่ม นิตยสารรายสัปดาห์เดือนละ 4 เล่ม

ขนาดหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ เรายังสามารถซื้อฉบับอี-บุ๊กได้จ่ายเดือนละ 29 บาท ถูกกว่าซื้อเป็นเล่มกว่าครึ่ง

แม้แต่หนังสือสำหรับคุณแม่บ้าน คุณผู้หญิงที่เคยเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก เช่น ขวัญเรือนและกุลสตรี ก็ยังมีฉบับอี-บุ๊ก ทันสมัยสุด ๆ

การจ่ายตังค์ก็ง่ายเรียกเก็บพร้อมค่าใช้งานโทรศัพท์ในทุกเดือน

จึงยืนยันถึงการเติบโตของอี-บุ๊กในบ้านเราได้อย่างดี

ส่วนหนังสือพิมพ์ หลายคนมักจะบ่นว่า หาซื้อไม่ค่อยได้ เพราะแผงหนังสืออยู่ไกลบ้าน หรือบางทีไปถึงร้านก็หมดก่อน หากฝนตกเด็กส่งหนังสือพิมพ์เบี้ยวก็อดอ่าน ในเอไอเอสบุ๊กสโตร์ก็มีหนังสือฉบับออนไลน์ หรือ อี-นิวส์เปเปอร์ (e-newpaper) ที่ให้บริการในตอนนี้เป็นหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึกและโลกวันนี้ หากซื้อแบบรายเดือนจะถูกกว่าซื้อที่แผงประมาณ 30-60%

ข้อดีของอี-บุ๊กก็คือ ถ้าเป็นนักอ่านก็สะดวกไม่ต้องพกหนังสือหลายเล่มแบกให้หนักเวลาเดินทาง หากเราหยุดพักผ่อนหรือต้องเดินทางไปหลาย ๆ วัน สามารถดาวน์โหลดอี-บุ๊กติดตัวไปอ่านได้หลายเล่ม แค่พกแท็บเล็ตหรือเครื่องอ่านหนังสืออี-บุ๊กไปเครื่องเดียว ราคาก็ถูกกว่าซื้อหนังสือเล่ม ส่วนสำนักพิมพ์ก็ประหยัดพื้นที่จัดเก็บหนังสือ ช่วยลดต้นทุนค่ากระดาษ

หนังสือออนไลน์ ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์ ในยุคดิจิตอล

การแข่งขันของธุรกิจ”หนังสือ” ในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องปรับตัวรับมือ “สื่อใหม่” ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้อ่านหนังสือเล่ม ทำให้บรรดา “สำนักพิมพ์”หลายค่าย ต่างเดินหน้าสร้างสรรค์กลยุทธ์ต่อยอดคอนเทนท์ รวมถึงผสมผสานการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ เพื่อสร้างฐานผู้อ่านทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์

กลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง จึงมีความสำคัญต่อการสื่อสารและการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เนื่องจากสินค้าหรือผลงานส่วนใหญ่มุ่งเน้นเจาะคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยถือเป็นกลุ่มที่ใช้เวลากับสื่อดิจิทัล ออนไลน์หลายชั่วโมงในแต่ละวัน มากกว่าสื่อรูปแบบอื่นๆ

รูปแบบการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งในช่วงแรก บริษัทใช้เว็บไซต์สื่อสารจนติดตลาด เป็นที่รับรู้ในกลุ่มวัยรุ่นและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะที่การใช้งานสื่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างในกลุ่มหลายวัย ส่งผลให้การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้นในทุกธุรกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์การเข้าร้านหนังสือและซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากยอดขายร้านหนังสือชะลออย่างมากเมื่อเทียบกับยุคก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้

“หากหนังสือมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย อาจไปไม่รอด เช่นเดียวกับหนังสือ ที่ไม่วางตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เชื่อว่าขายยากมากในปัจจุบัน แต่หากเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่ม ถือว่ามีโอกาสทางธุรกิจในยุคนี้ ที่สามารถใช้เครื่องมือสื่อดิจิทัลในการสื่อสารตอบโจทย์ความสนใจเฉพาะด้าน”
ในโลกออนไลน์ที่สามารถค้นหาข้อมูลและวิเคราะห์ความสนใจผู้บริโภคได้อย่าง ง่ายๆ ตัวอย่างเว็บไซต์กูเกิล ที่มีผู้เข้าไปค้นหาข้อมูลผ่านคำค้นต่างๆ ที่อยู่ในกระแส สำนักพิมพ์อาจเลือกดึงความสนใจของผู้คนจากคำค้นยอดฮิต มาผลิตเป็นหนังสือ ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกกว่าในอินเทอร์เน็ต จะเห็นได้ว่าสื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางสำคัญในการพัฒนาคอนเทนท์หนังสือให้ น่าสนใจ

6 เทคนิคดีๆ ในการอ่านหนังสือที่แสนน่าเบื่อ อ่านยังไงให้เข้าหัว

index
ปกติแล้วถ้าเป็นหนังสือที่เราชอบ มักจะไม่ค่อยมีโมเมนท์อยากปิดหนังสือ แต่สำหรับหนังสือบางประเภท เช่น หนังสือเรียน หลายคนอยากรีบอ่านให้จบแต่ไม่จบซักที เพราะอ่านไม่กี่หน้าก็หน้าเบื่อ ง่วงนอน ทุกหน้าเต็มไปด้วยตัวหนังสือล้วนๆ แต่ทำไงได้ น้องๆ ต้องใช้สอบและเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเอง ดังนั้นก็ต้องอ่านๆๆ เข้าไปค่ะ อิอิ

แบบนี้แน่นอน ก็เลยสรรหาเทคนิคการอ่าน “หนังสือที่น่าเบื่อ” ให้หายน่าเบื่อและสามารถอ่านจนจบได้ด้วยระยะเวลาที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ไปดูกันเลยว่าเทคนิคเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
1. ดูสารบัญ หาเรื่องที่น่าสนใจก่อน
ชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะ ถ้า รู้ประโยชน์ของสารบัญค่ะ สารบัญจะอยู่หน้าแรกๆ ของหนังสือ เป็นส่วนที่บอกว่าเรื่องไหนอยู่หน้าอะไร เราอาจจะมองว่าไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงมันคือโครงร่างของหนังสือที่ช่วยให้รู้ว่าในเล่มนี้มีอะไรให้อ่านบ้าง ไม่ต้องไปไล่ดูทั้งเล่ม เมื่ออ่านหัวข้อแล้ว ชอบหัวข้อไหนหรืออันไหนน่าสนใจ คิดว่าอ่านแล้วต้องไม่วางหนีซะก่อน ก็เลือกเปิดไปหน้านั้นก่อนเลยค่ะ การที่เราเริ่มต้นด้วยอะไรง่ายๆ สนุกๆ ทุกอย่างจะราบรื่นขึ้นเยอะค่ะ

2. อ่านกี่หน้าดี
พลิกหน้าหนังสือจากสารบัญมาแล้ว ถ้ามาเจอความจริงว่า เนื้อหามันน่าเบื่อมากกกกกกก คราวนี้ถ้ารู้ตัวว่าอ่านได้ไม่เกิน 10 นาทีต้องปิดแน่ๆ (หมายถึงตาเรา) ก็ต้องใช้เทคนิคฟิกจำนวนหน้าไว้เลย พูดง่ายๆ คือ ตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องอ่านให้ได้กี่หน้า เช่น ต้องอ่านให้ได้ 10 หน้า (เมื่อไหร่จะอ่านจบเล่ม), 20 หน้า ถ้าอ่านครบที่ตั้งใจก็ไปพักได้ เหตุผลที่ต้องระบุจำนวนหน้าแทนการระบุเวลา เพราะการระบุจำนวนหน้าให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่าค่ะ บางคนอ่านครึ่งชั่วโมง แต่ได้ไม่ถึง 5 หน้าก็มี เพราะไม่ตั้งใจ ตรงกันข้ามถ้าเราระบุจำนวนหน้า จะช่วยให้กระตือรือร้น 10 หน้าอาจจะอ่านจบภายใน 10 นาทีก็ได้ ใครจะอ่านสองชั่วโมงก็ไม่มีใครว่า แต่ต้องอ่านให้ถึงเป้าแค่นั้นพอ

3. เสียบปุ๊บอ่านปั๊บ
เทคนิคนี้เหมาะสำหรับคนที่เบื่อการอ่านแบบปกติที่ต้องไล่ทีละหน้า อุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้คือ “ที่คั่นหนังสือ” ค่ะ วิธีการง่ายๆ เอาหนังสือน่าเบื่อเล่มนั้นมาวางไว้ แล้วเอาที่คั่นหนังสือเสียบเข้าไป ได้หน้าไหนก็อ่านหัวเรื่องนั้น ไม่ใช่อ่านแค่หน้านั้นนะคะ เพราะบางทีหน้าที่เราคั่นอาจจะอยู่กลางๆ เรื่อง ดังนั้นลองเปิดย้อนดูหน่อยว่าต้นเรื่องอยู่ตรงไหนแล้วก็เริ่มอ่านได้เลย เมื่ออ่านจบเรื่องแล้ว ก็มาจดใส่สมุดเอาไว้ว่าอ่านหน้าไหนไปแล้วบ้าง วิธีนี้ช่วยให้การอ่านไม่น่าเบื่อ เพราะเราต้องลุ้นอยู่ตลอดว่าจะได้อ่านเรื่องไหน จะได้เรื่องสั้นหรือยาว และที่สำคัญเราต้องรับผิดชอบอ่านหัวเรื่องนั้นให้จบด้วยค่ะ อิอิ

4. พกหนังสือไปด้วยทุกที่
สิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยในการอ่านมากเลยนะคะ เคยสังเกตมั้ยว่าถ้าเราอ่านหนังสือในสถานที่ที่แตกต่างกัน ระดับการเรียนรู้จะแตกต่างกัน บางคนชอบอ่านในร้านอาหาร บางคนชอบอ่านห้องสมุด อ่านต่างสถานที่แต่เหตุผลเหมือนกันคือ อ่านในที่ที่มีสมาธิเหมาะกับตัวเรา ดังนั้นพี่มิ้นท์แนะนำให้พกหนังสือไปด้วยทุกที่ค่ะ ช่วงไหนใกล้สอบให้พกเล่มที่น่าเบื่อติดตัวไว้ แล้วเปิดอ่านตอนเวลาว่าง วันละนิด วันละหน่อย เดี๋ยวก็จบเล่มเองค่ะ

5. หาสื่ออื่นมาประกอบ
เทคนิคการอ่านข้อสุดท้าย ต้องใช้อย่างอื่นเข้ามาช่วยค่ะ ทุกวันนี้คงเคยเห็นหนังสือสรุปย่อ หนังสือ การ์ตูนความรู้ หรือพวก info graphic, mind mapping ต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งกว่าจะออกเป็นสื่อพวกนี้ คนทำก็ต้องเอาเนื้อหาแน่นๆ เต็มๆ มาย่อยให้เหลือข้อมูลแค่นั้นก่อน ดังนั้นถ้าไม่อยากอ่านแต่หนังสือน่าเบื่อๆ ลองไปยืมจากห้องสมุดหรือเสิร์ชหาอินเทอร์เน็ตในหัวเรื่องต่างๆ มาอ่านประกอบ เป็นเทคนิคที่ช่วยได้เยอะเลยนะคะ

6. พักผ่อนให้พอก่อนมาอ่าน
การอ่านหนังสือซักเล่มต้องใช้แรงกาย แรงใจ และแรงจูงใจค่อนข้างเยอะค่ะ ยิ่งเป็นหนังสือที่น่าเบื่อด้วยแล้ว ทุกอย่างต้องเป็นสองเท่า หากง่วงๆ มาอ่าน รับรองว่าไม่เกิน 5 นาที หนังสือได้อ่านเราแน่นอน ดังนั้นก่อนอ่านหนังสือ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากเพิ่งเลิกเรียนมา ก็กินข้าว อาบน้ำ ดูทีวีให้พอใจก่อน แล้วมาลุยอ่านให้เต็มที่ บางทีแค่ร่างกายและจิตใจพร้อมก็ช่วยเปลี่ยนหนังสือที่น่าเบื่อให้น่าอ่านได้นะคะ ใครที่รู้ตัวว่ารอบตัวมีแต่หนังสือน่าเบื่อๆ ทั้งนั้น ก็ลองเอาเทคนิคการอ่านทั้ง 6 ข้อนี้ไปปรับใช้ดู จะใช้ทุกเทคนิคไปพร้อมๆ กันก็ได้ค่ะ