Tag Archives: เทคนิคการอ่านหนังสือ

6 เทคนิคดีๆ ในการอ่านหนังสือที่แสนน่าเบื่อ อ่านยังไงให้เข้าหัว

index
ปกติแล้วถ้าเป็นหนังสือที่เราชอบ มักจะไม่ค่อยมีโมเมนท์อยากปิดหนังสือ แต่สำหรับหนังสือบางประเภท เช่น หนังสือเรียน หลายคนอยากรีบอ่านให้จบแต่ไม่จบซักที เพราะอ่านไม่กี่หน้าก็หน้าเบื่อ ง่วงนอน ทุกหน้าเต็มไปด้วยตัวหนังสือล้วนๆ แต่ทำไงได้ น้องๆ ต้องใช้สอบและเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเอง ดังนั้นก็ต้องอ่านๆๆ เข้าไปค่ะ อิอิ

แบบนี้แน่นอน ก็เลยสรรหาเทคนิคการอ่าน “หนังสือที่น่าเบื่อ” ให้หายน่าเบื่อและสามารถอ่านจนจบได้ด้วยระยะเวลาที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ไปดูกันเลยว่าเทคนิคเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
1. ดูสารบัญ หาเรื่องที่น่าสนใจก่อน
ชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะ ถ้า รู้ประโยชน์ของสารบัญค่ะ สารบัญจะอยู่หน้าแรกๆ ของหนังสือ เป็นส่วนที่บอกว่าเรื่องไหนอยู่หน้าอะไร เราอาจจะมองว่าไม่มีประโยชน์ แต่ความจริงมันคือโครงร่างของหนังสือที่ช่วยให้รู้ว่าในเล่มนี้มีอะไรให้อ่านบ้าง ไม่ต้องไปไล่ดูทั้งเล่ม เมื่ออ่านหัวข้อแล้ว ชอบหัวข้อไหนหรืออันไหนน่าสนใจ คิดว่าอ่านแล้วต้องไม่วางหนีซะก่อน ก็เลือกเปิดไปหน้านั้นก่อนเลยค่ะ การที่เราเริ่มต้นด้วยอะไรง่ายๆ สนุกๆ ทุกอย่างจะราบรื่นขึ้นเยอะค่ะ

2. อ่านกี่หน้าดี
พลิกหน้าหนังสือจากสารบัญมาแล้ว ถ้ามาเจอความจริงว่า เนื้อหามันน่าเบื่อมากกกกกกก คราวนี้ถ้ารู้ตัวว่าอ่านได้ไม่เกิน 10 นาทีต้องปิดแน่ๆ (หมายถึงตาเรา) ก็ต้องใช้เทคนิคฟิกจำนวนหน้าไว้เลย พูดง่ายๆ คือ ตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องอ่านให้ได้กี่หน้า เช่น ต้องอ่านให้ได้ 10 หน้า (เมื่อไหร่จะอ่านจบเล่ม), 20 หน้า ถ้าอ่านครบที่ตั้งใจก็ไปพักได้ เหตุผลที่ต้องระบุจำนวนหน้าแทนการระบุเวลา เพราะการระบุจำนวนหน้าให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่าค่ะ บางคนอ่านครึ่งชั่วโมง แต่ได้ไม่ถึง 5 หน้าก็มี เพราะไม่ตั้งใจ ตรงกันข้ามถ้าเราระบุจำนวนหน้า จะช่วยให้กระตือรือร้น 10 หน้าอาจจะอ่านจบภายใน 10 นาทีก็ได้ ใครจะอ่านสองชั่วโมงก็ไม่มีใครว่า แต่ต้องอ่านให้ถึงเป้าแค่นั้นพอ

3. เสียบปุ๊บอ่านปั๊บ
เทคนิคนี้เหมาะสำหรับคนที่เบื่อการอ่านแบบปกติที่ต้องไล่ทีละหน้า อุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้คือ “ที่คั่นหนังสือ” ค่ะ วิธีการง่ายๆ เอาหนังสือน่าเบื่อเล่มนั้นมาวางไว้ แล้วเอาที่คั่นหนังสือเสียบเข้าไป ได้หน้าไหนก็อ่านหัวเรื่องนั้น ไม่ใช่อ่านแค่หน้านั้นนะคะ เพราะบางทีหน้าที่เราคั่นอาจจะอยู่กลางๆ เรื่อง ดังนั้นลองเปิดย้อนดูหน่อยว่าต้นเรื่องอยู่ตรงไหนแล้วก็เริ่มอ่านได้เลย เมื่ออ่านจบเรื่องแล้ว ก็มาจดใส่สมุดเอาไว้ว่าอ่านหน้าไหนไปแล้วบ้าง วิธีนี้ช่วยให้การอ่านไม่น่าเบื่อ เพราะเราต้องลุ้นอยู่ตลอดว่าจะได้อ่านเรื่องไหน จะได้เรื่องสั้นหรือยาว และที่สำคัญเราต้องรับผิดชอบอ่านหัวเรื่องนั้นให้จบด้วยค่ะ อิอิ

4. พกหนังสือไปด้วยทุกที่
สิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยในการอ่านมากเลยนะคะ เคยสังเกตมั้ยว่าถ้าเราอ่านหนังสือในสถานที่ที่แตกต่างกัน ระดับการเรียนรู้จะแตกต่างกัน บางคนชอบอ่านในร้านอาหาร บางคนชอบอ่านห้องสมุด อ่านต่างสถานที่แต่เหตุผลเหมือนกันคือ อ่านในที่ที่มีสมาธิเหมาะกับตัวเรา ดังนั้นพี่มิ้นท์แนะนำให้พกหนังสือไปด้วยทุกที่ค่ะ ช่วงไหนใกล้สอบให้พกเล่มที่น่าเบื่อติดตัวไว้ แล้วเปิดอ่านตอนเวลาว่าง วันละนิด วันละหน่อย เดี๋ยวก็จบเล่มเองค่ะ

5. หาสื่ออื่นมาประกอบ
เทคนิคการอ่านข้อสุดท้าย ต้องใช้อย่างอื่นเข้ามาช่วยค่ะ ทุกวันนี้คงเคยเห็นหนังสือสรุปย่อ หนังสือ การ์ตูนความรู้ หรือพวก info graphic, mind mapping ต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งกว่าจะออกเป็นสื่อพวกนี้ คนทำก็ต้องเอาเนื้อหาแน่นๆ เต็มๆ มาย่อยให้เหลือข้อมูลแค่นั้นก่อน ดังนั้นถ้าไม่อยากอ่านแต่หนังสือน่าเบื่อๆ ลองไปยืมจากห้องสมุดหรือเสิร์ชหาอินเทอร์เน็ตในหัวเรื่องต่างๆ มาอ่านประกอบ เป็นเทคนิคที่ช่วยได้เยอะเลยนะคะ

6. พักผ่อนให้พอก่อนมาอ่าน
การอ่านหนังสือซักเล่มต้องใช้แรงกาย แรงใจ และแรงจูงใจค่อนข้างเยอะค่ะ ยิ่งเป็นหนังสือที่น่าเบื่อด้วยแล้ว ทุกอย่างต้องเป็นสองเท่า หากง่วงๆ มาอ่าน รับรองว่าไม่เกิน 5 นาที หนังสือได้อ่านเราแน่นอน ดังนั้นก่อนอ่านหนังสือ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากเพิ่งเลิกเรียนมา ก็กินข้าว อาบน้ำ ดูทีวีให้พอใจก่อน แล้วมาลุยอ่านให้เต็มที่ บางทีแค่ร่างกายและจิตใจพร้อมก็ช่วยเปลี่ยนหนังสือที่น่าเบื่อให้น่าอ่านได้นะคะ ใครที่รู้ตัวว่ารอบตัวมีแต่หนังสือน่าเบื่อๆ ทั้งนั้น ก็ลองเอาเทคนิคการอ่านทั้ง 6 ข้อนี้ไปปรับใช้ดู จะใช้ทุกเทคนิคไปพร้อมๆ กันก็ได้ค่ะ